วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

คำพ่อสอน
หมวด ความซื่อสัตย์สุจริต ความเพียร
                " ข้าพเจ้าใคร่ขอให้ท่านทั้งหลายจงมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต ถือเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เพราะคุณธรรมอันนี้เป็นมูลฐาน อันสำคัญที่จะยังความเจริญ และความเป็นปึกแผ่นแก่สังคม เป็นบ่อเกิด แห่งความสามัคคีกลมเกลียว ความซื่อสัตย์ที่ว่านี้ หมายถึง ความสุจริต ซื่อตรงต่อหน้าที่การงาน ต่อตนเองและต่อผู้อื่น ที่เกี่ยวข้อง มีเจตนาบริสุทธิ์ไม่เอารัดเอาเปรียบ สำหรับท่านที่ใช้วิชากฎหมาย ย่อมกินความถึงการรักษาความเป็นธรรม ไม่บิดเบือน ความหมายของตัวบทกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของตนเองด้วย ความซื่อสัตย์สุจริตจะเป็นเสมือนหนึ่งเกราะคุ้มภัยแก่ท่านตลอดไป ดังบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า “สุจริตคือเกราะบัง สาตรพ้อง” "
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : ๒๓ พฤษภาคม ๒๔๙๖)

                " ท่านทั้งหลายที่สำเร็จการศึกษาและจะได้ออกไปประกอบการงานเริ่มต้นชีวิตใหม่ของท่านนั้น ข้าพเจ้าขอฝากคติไว้เป็นเครื่องกำกับใจ มีคุณธรรมข้อหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งท่านต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอคือ ความสัตย์สุจริต ประเทศบ้านเมืองจะวัฒนาถาวรอยู่ได้ ก็ย่อมอาศัยความสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐาน ท่านทั้งหลายจะออกไปรับราชการก็ดี หรือประกอบกิจการงานส่วนตัวก็ดี ขอให้มั่นอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๓ ประการคือ สุจริตต่อบ้านเมือง สุจริตต่อประชาชน และสุจริตต่อหน้าที่ ท่านจึงจะเป็นผู้ที่ควรแก่การสรรเสริญของ มวลชนทั่วไป ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีต่อท่านทั้งหลาย ในเกียรติ ที่ท่านได้รับ ณ ท่ามกลางสันนิบาตนี้และขอให้ท่านจงรำลึกถึงเกียรตินี้ และรักษาไว้ด้วยความสัตย์สุจริต ให้สมกับพุทธภาษิต ว่า “คนย่อมได้เกียรติคือชื่อเสียงเพราะความสัตย์” "
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : ๑๒ มิถุนายน ๒๔๙๗)
                " ท่านจะต้องสุจริตต่อบ้านเมือง สุจริตต่อประชาชนและสุจริต ต่อหน้าที่ ..... นอกจากความรู้และความสุจริตประจำตัวแล้วท่านควร มีหรือตั้งจุดหมายให้แน่วแน่ในการงานที่จะกระทำนั้น แล้วใช้ความคิดไตร่ตรองว่าจะทำอย่างไรบ้าง ..... และการใช้ความคิดดังว่านี้จำเป็นต้อง ใช้สติควบคุม มิฉะนั้น ก็จะเป็นความคิดที่ฟุ้งซ่านซึ่งประเทศชาติ ไม่พึงปรารถนา "
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : ๗ กรกฎาคม ๒๔๙๘)

                " ก่อนที่แต่ละคนจะออกไปประกอบการงาน ดำเนินชีวิตต่อไป ใคร่ขอให้คิดไตร่ตรองให้เข้าใจโดยแจ้งชัดว่า การที่ศึกษาสำเร็จได้นี้ ตัวท่านเอง ต้องพากเพียรบากบั่นอย่างหนักยิ่งมาโดยตลอด ทั้งได้อาศัย ครูอาจารย์ สถานศึกษาและปัจจัยอื่นๆ อีกมาก ซึ่งนับว่าเป็นการ ช่วยเหลือที่ท่านได้รับจากผู้อื่น คือประชาชนเป็นส่วนรวม เมื่อได้บากบั่นสร้างความสำเร็จในการศึกษาด้วยตนเองมาได้ชั้นหนึ่งแล้ว ขอให้มุ่งมั่นสร้างความสำเร็จในชีวิตต่อไป อย่าให้เสียทีที่ได้ทำความเพียร พยายามมา ในส่วนที่ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากผู้อื่นนั้น ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะได้ตอบแทน "
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: ๒๙ มกราคม ๒๕๑๓)
                " .....ในฐานะที่จะเป็นครูบาอาจารย์หรือหัวหน้างานในวันข้างหน้า จำเป็น ต้องมีความสุจริตยุติธรรม ทำตัวให้เป็นตัวอย่างและเป็นที่พึ่งของผู้อยู่ ใต้บังคับบัญชา ไม่ยอมพ่ายแพ้แก่ความโลภ ความลืมตัว ความริษยาแตกร้าวกัน ต้องมุ่งมั่นในประโยชน์อันยั่งยืนไพศาลของส่วนรวมเป็นเป้าหมาย จึงจะได้เชื่อว่า จะประสบความสำเร็จและชื่อเสียงเกียรติคุณ ทุกๆประการดังที่ปรารถนา …… "
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า : ๒๕ ตุลาคม ๒๕๑๖)
                " บัดนี้ได้ข่มขู่ท่านทั้งหลายอย่างรุนแรงแล้ว ว่าท่านต้องตายทุกคน แต่ทำไมท่านหัวเราะ? ก็เพราะว่าทุกคนจะปลอดภัย ถ้ามีความมั่นใจจริงๆ ว่าเราต้องมีความซื่อสัตย์ มีความตั้งใจที่แน่วแน่ ทำอะไร ไม่ใช่ทำสำหรับได้ชื่อเสียงส่วนตัว หรือได้อำนาจ แต่ทำเพื่อรักษา ส่วนรวม คือ ส่วนรวมที่เป็นที่อยู่ของเราเป็นที่อาศัยของเรา ทุกคนต้อง มีความมุ่งมั่น ไม่คิดถึงสิ่งที่มาขมขู่เรา ต้องคิดด้วยเหตุผล "
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗)

                " ในที่นี้ ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะชี้ให้เห็นว่า คนเราจะแสวงหาแต่วิชา การฝ่ายเดียวไม่ได้ ผู้มีวิชาการจำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติในตัวเอง นอกจากวิชาความรู้ด้วย จึงจะนำตนนำชาติให้รอดและเจริญได้ คุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับทุกคนนั้น ที่สำคัญได้แก่ ความรู้จักผิดชอบ ชั่วดี ความละอายชั่วกลัวบาป ความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งในความคิด และการกระทำ ความไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ความไม่ มักง่าย หยาบคาย กับอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญเป็นพิเศษ คือความขยัน หมั่นเพียร พยายามฝึกหัดประกอบการงานทุกอย่างด้วยตนเอง ด้วยความตั้งใจ ไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้ง คุณสมบัติเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่จะทำให้การศึกษาสมบูรณ์เป็นประโยชน์จริง เป็นสิ่งซึ่งครูจะต้องปลูกฝังให้เจริญขึ้นในตัวนักเรียนให้ครบถ้วน เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นคนเต็มคน เป็นคนที่สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองและประเทศชาติได้ ....... "
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ : ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๐)
                " เช่นบอกว่าจะทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ก็เห็นได้ว่า ความซื่อสัตย์สุจริตนี้ คือไม่โกง คือไม่คอรัปชั่น คือไม่ขโมย ไม่ทุจริต นี่ก็พูดได้ง่ายๆแต่ปฏิบัติได้หรือเปล่า เพราะบางอย่างมัน ไม่ใช่ขโมย บางอย่างไม่ใช่คอรัปชั่น บางอย่างไม่ใช่ทุจริตแท้ แต่ว่าเป็นการทำให้คนอื่นเขาทุจริตได้ หรือเป็นการกระทำที่แสดงออกมา ข้างนอกว่าไม่ทุจริต แต่ว่าเป็นการทำให้คนอื่นเขาทุจริตได้ หรือเป็นการกระทำที่แสดงออกมาข้าวนอกว่าไม่ทุจริต แต่ก็ข้างในก็อาจจะทุจริตก็ได้ หรือข้างในไม่ทุจริต แต่ข้างนอกทุจริตได้ การปฏิญาณตนนั้นจึงต้องทราบและซึ้งและซาบซึ้ง ........ "
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา: ๔ ธันวาคม ๒๕๒๑)
                " คุณธรรมทั้งห้าประการนี้ พิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นว่าต่างก็เป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องอาศัยกันและเกื้อกูลส่งเสริมซึ่งกันและกันอยู่ทั้งหมด เช่น ศรัทธาความเชื่อถือซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดความพากเพียร ขวนขวายนั้น จะต้องอาศัยความยั้งคิดและปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาวินิจฉัย ปัญญา ความรู้ชัด จะเกิดมีได้ก็ต้องอาศัยความตั้งใจเพิ่งพินิจ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างเสริมคุณธรรมทุกๆ ข้อให้ครบ ให้เป็น ฐานอันแผ่กว้าง สำหรับรองรับการงานได้ทั่วถึงมั่นคง จึงจะสามารถทำงานสำเร็จผลเลิศได้โดยสมบูรณ์ บริบูรณ์และเป็นประโยชน์ช่วยตัวช่วยผู้อื่นและส่วนรวมได้ด้วย "
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยรามคำแหง: ๑๓ ธันวาคม ๒๕๒๒)